ในปัจจุบันแม้ว่าการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่ข้อมูลสำคัญอีกไม่น้อยที่ยังคงมีความจำเป็นต้องจัดทำขึ้นในรูปแบบของเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางธุรกิจ ความลับทางการค้า สำเนาบัตรประชาชน สมุดบัญชีธนาคารหรือแม้แต่บัตรเครดิต แต่ถ้าเราจะต้องมานั่งทำลายสิ่งเหล่านี้กันด้วยมือก็คงจะเสียเวลามากพอสมควร ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลาให้การทำลายเป็นไปอย่างรวดเร็วและเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลได้ดีที่สุด การเลือกใช้ "เครื่องทำลายเอกสาร" จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
และเพื่อให้การทำลายข้อมูลของคุณมีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์สูงสุดนั้น ทางทีมงานจึงได้ทำการรวบรวมเอาลักษณะเฉพาะของเครื่องทำลายเอกสารมาเป็นข้อมูลวิธีการเลือก เพื่อให้ทำงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ซื้อให้มากที่สุด พร้อมด้วย 10 อันดับเครื่องทำลายเอกสารคุณภาพดีจากผู้ผลิตแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น GBC, VIGORHOOD, Deli, Olympia ฯลฯ มาไว้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจให้อีกด้วยค่ะ
ก่อนอื่นเรามารู้จักหลักการแบบกว้าง ๆ ในการเลือกเครื่องทำลายเอกสารกันก่อนเลยค่ะ
ก่อนการเลือกซื้อเครื่องทำลายเอกสาร สิ่งสำคัญที่จำเป็นจะต้องศึกษาอย่างละเอียดก็คือ ลักษณะการทำงาน ไปจนถึงคุณสมบัติที่สำคัญของตัวเครื่อง และเพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด คุณสามารถเลือกได้โดยใช้ข้อมูลดังต่อไปนี้ในการพิจารณา
เครื่องทำลายเอกสารประเภทมือหมุนเป็นประเภทที่เหมาะสำหรับใช้ในบ้าน ออฟฟิศขนาดเล็ก หรือผู้ที่ต้องการย่อยเอกสารในปริมาณน้อย มีราคาไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานได้ง่ายและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ แถมยังได้ออกกำลังกายไปในตัวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เครื่องประเภทนี้ก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น หากกระดาษที่ต้องการทำลายมีปริมาณมากหรือเป็นกระดาษที่หนา ก็อาจทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้ เพราะประเภทนี้ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรมากนัก จะทำหน้าที่เพียงแค่ทำลายเอกสาร ไม่สามารถทำลายแผ่นซีดีหรือบัตรเครดิตได้
แต่ถ้าหากใครที่ต้องการย่อยเอกสารในปริมาณมาก ๆ หรือเพื่อใช้งานในออฟฟิศขนาดใหญ่ ก็สามารถเลือกใช้ประเภทไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าเครื่องทำลายเอกสารอัตโนมัติก็ได้ โดยเครื่องทำลายเอกสารประเภทนี้จะมีความสามารถในการย่อยเอกสารได้ 2-8 แผ่น ภายในครั้งเดียว หรือบางรุ่นก็อาจทำได้มากกว่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่ยังสามารถทำลายแผ่นซีดีหรือบัตรเครดิตได้อีกด้วย
หัวข้อต่อมาที่มีผลต่อการเลือกซื้ออย่างยิ่ง นั่นก็คือ "ขนาดของเครื่องทำลายเอกสาร" ส่วนนี้ผู้ซื้อจำเป็นจะต้องวางแผนหาพื้นที่สำหรับวางเครื่องในตำแหน่งที่เหมาะสมก่อน โดยแนะนำให้เลือกสถานที่ตามมุมต่าง ๆ ของโต๊ะหรือใต้โต๊ะทำงาน เพื่อให้ใช้งานได้ในทันทีและไม่ต้องย้ายสถานที่จัดเก็บไปมา ที่สำคัญยังปลอดภัยต่อผู้อื่นหรือสิ่งของที่เผลอตกลงไปแล้วเข้าไปติดในช่องทำลายจนอาจเกิดเป็นอุบัติเหตุได้
แต่หากคุณมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ก็สามารถเปลี่ยนไปเลือกซื้อขนาดที่เล็กลงหรือรุ่นที่มีที่จับและมีล้อ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นแล้วก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ การวัดขนาดพื้นที่สำหรับติดตั้งจึงเป็นการวางแผนการเลือกซื้อที่ดีและสำคัญไม่น้อย
สำหรับความจุของเครื่องทำลายเอกสารก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะหากกล่องที่รองรับเศษกระดาษที่ตัดมีขนาดเล็ก เมื่อมีการทำลายไประยะหนึ่งก็จะเกิดกรณีที่จะต้องถอดออกมาทิ้งบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาหรือทำให้เครื่องต้องหยุดชะงักบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้มอเตอร์และกลไกต่าง ๆ เสื่อมสภาพและขัดข้องได้ง่ายขึ้นด้วย
ขนาดเริ่มต้นที่แนะนำสำหรับใช้งานส่วนบุคคลหรือผู้ใช้ 1-2 คนขึ้นไปในสำนักงานขนาดเล็กหรือภายในบ้าน มักจะเป็นขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 10 ลิตร แต่ถ้าต้องการทำลายเอกสารจำนวนมาก ขอแนะนำให้เลือกความจุที่ 20 ลิตรขึ้นไป และหากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่จำเป็นจะต้องทำลายเอกสารจำนวนมหึมาในแต่ละวัน ควรเลือกเครื่องทำลายเอกสารที่มีความจุประมาณ 120 ลิตร ก็จะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
ความกว้างของช่องใส่เอกสาร ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การทำลายเอกสารของคุณง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเราจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลกับไซซ์ของเอกสาร ตัวอย่างเช่น หากช่องใส่นั้นมีขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 เราก็ต้องคอยมานั่งพับเอกสารให้พอดีกับขนาดของช่อง เป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้น การเลือกซื้อรุ่นที่รองรับขนาดกระดาษหรือเอกสารที่เราต้องการทำลาย ก็จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ไปได้มากทีเดียว
ในแรกเริ่มเครื่องทำลายเอกสารนั้นค่อนข้างมีเสียงดังเนื่องจากกลไกการกระทบกันของเครื่องตัดภายใน ส่งผลให้ผู้ใช้จะต้องแอบหลบมุมไปใช้งาน นอกจากนี้หากใครที่จะต้องทำลายเอกสารครั้งละมาก ๆ ก็มีแนวโน้มที่เสียงเครื่องจะดังอย่างต่อเนื่องจนสร้างความรำคาญได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เครื่องทำลายเอกสารส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะมีฟังก์ชันช่วยลดเสียงเพื่อให้มีเสียงเงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำแนะนำว่าควรเลือกเครื่องที่มีระดับเสียงไม่เกิน 70 เดซิเบล เพื่อลดการรบกวนเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะแผนกที่ต้องการใช้สมาธิเป็นพิเศษ อย่างแผนกบัญชี หรือบริเวณห้องประชุม เป็นต้น
ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ความละเอียดในการทำลายเอกสาร" เพราะสิ่งนี้จะมีความสัมพันธ์กับระดับความสำคัญของเอกสารด้วย โดยยิ่งเอกสารที่ถูกทำลายมีขนาดเล็กลงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยากต่อการปะติดปะต่อกู้ข้อมูลบนเอกสาร หรือถึงขั้นไม่สามารถกู้ได้เลยก็ได้ โดยในประเทศไทยมีวางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 3 ลักษณะดังนี้
ลักษณะแรกคือ "Strip Cut" หรือการตัดตรง โดยทิศทางในการตัดจะอยู่ในแนวตั้ง ทำให้เอกสารที่ได้มีลักษณะเป็นเส้นยาว ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในเครื่องทำลายเอกสารแบบมือหมุนและเครื่องที่มีราคาไม่สูงมากนัก แต่เนื่องจากการทำงานเป็นไปอย่างง่าย ทำให้ในบางกรณีชิ้นส่วนจากการทำลายยังสามารถนำมาเรียบเรียง ปะติดปะต่อจนเห็นข้อมูลเดิมได้ ดังนั้นการทำลายในลักษณะนี้จึงเหมาะสำหรับเอกสารที่มีความสำคัญระดับปานกลางค่ะ
สำหรับลักษณะการตัดแบบ "Cross Cut" เป็นวิธีการตัดที่พบได้ทั่วไปในเครื่องทำลายเอกสารแบบไฟฟ้า โดยเป็นการตัดที่บางและเล็กลง กล่าวคือเป็นการนำเส้นตรงยาว ๆ มาตัดขวางอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ได้เอกสารที่เล็กและสั้นลง เหมาะกับเอกสารที่มีความสำคัญในระดับกลางไปจนถึงระดับสูง เช่น เอกสารที่ระบุข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม เครื่องทำลายเอกสารในลักษณะนี้มักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้แลกมาด้วยความปลอดภัยที่มากขึ้นนั่นเอง
หากเป็นเอกสารที่มีความสำคัญระดับสูง ทางเดียวที่จะกำจัดข้อมูลได้ก็คือ ต้องทำลายให้ไม่เหลือเค้าโครงเดิม ซึ่งลักษณะที่ตอบโจทย์ข้อนี้มากที่สุด ก็คือการตัดแบบ "Micro Cut" หรือแบบป่น ที่เรียกได้ว่าละเอียดขั้นสุดจริง ๆ ซึ่งการทำลายในลักษณะนี้มีข้อเสียตรงที่ใช้เวลาทำลายนานที่สุด แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดแล้ว การเลือกใช้เครื่องทำลายแบบ Micro Cut ก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียวค่ะ
เมื่อได้เครื่องที่พร้อมกับรูปแบบการตัดที่ใช่แล้ว ข้อต่อไปก็คือ ความสามารถที่ทุกเครื่องจะต้องมี อันได้แก่ ความต่อเนื่องในการทำงาน ความเร็ว และปริมาณเอกสารที่ทำลายได้ในแต่ละครั้ง ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบอกถึงประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย
ถ้าเป็นการทำลายเอกสารไม่มาก ก็สามารถเลือกใช้เครื่องรุ่นธรรมดา ที่สามารถย่อยเอกสารพร้อมกันได้ครั้งละ 5-10 แผ่น แต่ในรุ่นเหล่านี้ผู้ใช้ก็จะต้องเผื่อเวลาให้เครื่องได้พักด้วย เพราะเมื่อเครื่องทำงานไประยะหนึ่งแล้วมอเตอร์จะเกิดความร้อน เครื่องก็จะทำการหยุดการทำงานในทันที และจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมอเตอร์เย็นลงแล้ว โดยบางรุ่นก็อาจต้องรอนานประมาณ 15-20 นาทีเลยทีเดียว
ดังนั้น หากต้องการทำลายเอกสารจำนวนมาก ขอแนะนำให้เลือกใช้เครื่องทำลายเอกสารที่รองรับการทำลายครั้งละ 20 แผ่นขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง ที่แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และมีราคาสูง แต่ก็ช่วยให้ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน รวมถึงเครื่องมักจะไม่ร้อนมากเกินไปเมื่อเทียบกับรุ่นเล็ก
หากต้องการทำลายเอกสารไม่มากเท่าไหร่นัก ฟังก์ชันนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยจำเป็น แต่ในทางตรงกันข้าม ความเร็วในการทำลายนี้เองเป็นถือตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่บรรดาสำนักงานหรือออฟฟิศขนาดใหญ่สนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแค่เครื่องจะฟีดกระดาษเข้าไปได้หลายแผ่นเท่านั้น แต่ต้องทำลายได้เร็วด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานไม่เสียเวลามากเกินไป
แต่ยิ่งมีความเร็วมากขึ้น กลไกที่ทำงานหนักขึ้นก็ต้องส่งเสียงดังขึ้นให้เราได้ยินอย่างแน่นอน และมักจะพบกรณีนี้ได้ในเครื่องทำลายเอกสารขนาดใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำลายกระดาษจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อาจจะต้องยอมรับเสียงรบกวนที่ต้องมีบ้างนั่นเอง
จำนวนแผ่นสูงสุดที่เครื่องสามารถตัดได้ต่อครั้ง คือ ข้อสังเกตและข้อควรระวังที่สำคัญ เพราะโดยทั่วไปแล้วเครื่องทำลายเอกสารที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้งาน จะสามารถฟีดเอกสารหรือกระดาษเข้าไปพร้อมกันได้ครั้งละไม่เกิน 5-10 แผ่น ซึ่งในบางครั้งก็เกิดคำถามว่าบางรุ่นทำไมถึงสามารถเพิ่มกระดาษได้อีก 1-2 แผ่น?
ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะการฝืนใส่กระดาษเกินจำนวนที่เครื่องกำหนดไว้นั้น แม้กระดาษจะถูกฟีดเข้าไปตัดได้ แต่จะเป็นการทำร้ายเครื่องแบบสะสม และจะทำให้เครื่องทำงานหนักโดยไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่ในท้ายที่สุดเครื่องก็จะพังเสียหายก่อนอายุการใช้งานจริง ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีหลายรุ่นที่พัฒนาให้ระบบหยุดการทำงานทันที เมื่อความหนาเกินกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการที่เครื่องทำงานหนักได้
นอกเหนือจากคุณสมบัติหลักที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การเลือกฟังก์ชันเสริมที่มีประโยชน์อื่น ๆ ก็มีส่วนที่จะช่วยให้การทำลายเอกสารของเรานั้นง่ายขึ้นด้วย
เรียกได้ว่าฟังก์ชันเสริมในข้อนี้ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้มากจริง ๆ เพราะทั้งแผ่นซีดี (CD) และบัตรเครดิตถือว่าเป็นสิ่งของที่มีข้อมูลสำคัญและอาจสร้างความเสียหายได้หากข้อมูลเหล่านี้หลุดรอดออกไป ดังนั้นเครื่องทำลายเอกสารที่มีราคาสูงหลายรุ่น จึงได้ออกแบบใบมีดมาให้มีความคมกริบมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการย่อยสิ่งของที่มีความแข็งได้ดีเยี่ยม แม้กระทั่งลวดเย็บกระดาษก็ยังถูกย่อยให้ละเอียดได้ด้วย
เครื่องทำลายเอกสาร หากมองลักษณะภายนอกอาจดูไม่มีอันตรายใด ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วใบมีดและกลไกที่อยู่ภายในเรียกได้ว่าเป็นอันตรายสูงสุดต่อผู้ใช้และเด็กเลยก็ว่าได้ หากเกิดการพลาดพลั้งถูกเครื่องดูดนิ้วมือ เส้นผมหรือปลายเสื้อเข้าไป ซึ่งหากเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับเครื่องระบบมือหมุน ก็ยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่เพราะเราสามารถหยุดเครื่องได้ในทันที แต่หากเป็นระบบอัตโนมัติแล้วล่ะก็ หนทางแรกที่จะช่วยให้เราพ้นจากอันตรายได้เร็วที่สุด ก็คือการตั้งสติและหยุดเครื่องโดยการถอดปลั๊กไฟในทันที
นอกจากนี้ บางรุ่นก็อาจมีเซนเซอร์การเลื่อนเข้า-ออกของถังบรรจุกระดาษ ซึ่งเครื่องจะหยุดทำงานอัตโนมัติเมื่อเลื่อนถังออก และจะกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อเลื่อนถังกลับเข้ามาใต้เครื่องและปิดสนิทแล้วเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากการโดนใบมีดบาดได้ในกรณีที่ผู้ใช้หรือเด็กเผลอเอามือล้วงเข้าไปจับกระดาษใต้เครื่อง
อีกหนึ่งปัญหากวนใจอันดับต้น ๆ คือ กระดาษเข้าไปติดในเครื่อง ทำให้เครื่องไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือแย่ไปกว่านั้นก็อาจเข้าไปขัดกับระบบจนเครื่องพังเสียหายได้ ดังนั้นการเลือกรุ่นที่มีระบบถอยหลังจึงเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างมีประโยชน์อย่างยิ่ง
โดยฟังก์ชันเหล่านี้จะถูกออกแบบให้มีการตอบสนองที่แตกต่างกันไปตามผู้ผลิต ทั้งแบบที่สามารถถอยหลังกลับได้เองอัตโนมัติ (Auto Reverse) เมื่อกระดาษติด หรือแบบที่หยุดการเดินเครื่องได้ทันที ซึ่งผู้ใช้จะต้องทำการกดปุ่ม Reverse เพื่อดึงกระดาษกลับเองก็มีเช่นกัน
สำหรับใน 10 อันดับต่อจากนี้ต้องบอกก่อนเลยว่า ทั้งงานดี มีคุณภาพ และมีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่ทุก ๆ อันดับต่างก็ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี ซึ่งจะคุ้มค่าน่าเลือกซื้อมาไว้ใช้งานขนาดไหนนั้นไปชมกันเลย
แม้ว่าจะเป็นเครื่องทำลายกระดาษสุดกะทัดรัด พกพาง่าย แต่ก็อัดแน่นด้วยคุณภาพไม่น้อย ตัวเครื่องทำจากพลาสติก ABS ซึ่งมีน้ำหนักเบา ทนความร้อนได้ดี ตัวกล่องบรรจุเศษกระดาษที่ตัดแล้วทำจากพลาสติกใสซึ่งมีข้อดีที่ช่วยให้เห็นปริมาณเศษขยะได้ง่ายขึ้น ทำให้ง่ายต่อการนำไปทิ้ง การใช้งานของรุ่นนี้ จำเป็นจะต้องพับครึ่งกระดาษ A4 แล้วหมุนที่แกนหมุนด้านขวาตามเข็มนาฬิกาเพื่อย่อยเอกสาร และหมุนทวนเข็มเพื่อฟีดกระดาษที่ติดกลับออกมาได้
มาที่ระบบไฟฟ้ากันบ้าง กับเครื่องทำลายเอกสารที่มีความเร็วในการทำลายอยู่ที่ 3.2 เมตร/นาที แต่กลับมีเสียงเงียบที่สุด และเอกสารที่ทำลายแล้วจะมีความกว้าง 6.8 mm ที่สำคัญภายในกลไกยังมีระบบความปลอดภัย ที่หากพบเจอสิ่งแปลกปลอมเครื่องก็จพหยุดทำงานทันที เพื่อป้องกันใบมีดเสียหาย สามารถเดินหน้าถอยหลังได้ด้วยปุ่มเลื่อนซ้ายขวาที่หัวเครื่อง นอกจากนี้ความคุ้มค่าอีกหนึ่งอย่างก็คือ สามารถจับคู่กับถังใส่เศษกระดาษขนาดอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สำหรับเครื่องทำลายเอกสารแบบมือหมุนรุ่นนี้มีความน่าสนใจมากทีเดียว เพราะโดดเด่นด้วยหน้ากว้างพิเศษถึง 229 mm ช่วยลดปัญหากระดาษติดด้านข้าง ตัวเครื่องทำมาจากวัสดุคุณภาพดี น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่ายและทนต่อแรงกระแทก กล่องบรรจุใสช่วยให้มองเห็นปริมาณเศษกระดาษที่อยู่ด้านในได้อย่างชัดเจน โดยเอกสารที่ย่อยและจะมีความกว้าง 3 mm แต่เนื่องจากเครื่องสามารถฟีดเอกสารได้ครั้งละแผ่น หากต้องการทำลายในปริมาณมากขึ้นก็จะต้องใช้เวลามากพอสมควร จึงเหมาะสำหรับใช้งานภายในครัวเรือน
ทำลายกระดาษอย่างรวดเร็วและจุใจกันไปเลยกับ GBC รุ่นนี้ ที่มาพร้อมความจุของถังที่มากถึง 30 ลิตร แถมยังสามารถย่อยกระดาษด้วยความเร็ว 2 เมตรต่อนาทีได้พร้อมกันถึง 16 แผ่นในครั้งเดียว และสามารถทำลาย ลวดเย็บกระดาษ, บัตรเคดิต หรือซีดี ได้ด้วย ใช้มอเตอร์คุณภาพจากประเทษอังกฤษ มีล้อ 4 ด้านช่วยให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกมากขึ้น เหมาะกับใช้ในสำนักงาน แต่เครื่องนี้ก็ยังมีข้อเสียที่กวนใจผู้ใช้เพราะต้องรอเครื่องพักนานถึง 30 นาทีกันเลยทีเดียว
รุ่นนี้จะเป็นระบบเริ่มต้นอัตโนมัติ (Auto Start/Stop) เมื่อใส่หรือหยุดใส่กระดาษ มีความเร็วในกาiทำลาย 3 เมตร/นาที มีระบบถอยหลังกลับอัตโนมัติเมื่อกระดาษติด นอกจากนี้ยังสามารถทำลายลวดเย็บกระดาษเบอร์ 10 ทำลายบัตรเครดิตและแผ่นซีดีขนาด 30 มม. ได้ครั้งละ 1 แผ่นอีกด้วย ซึ่งจะทำลายแบบ Strip Cut แต่ต้องใส่แยกคนละช่องกับเอกสาร เพราะจะใช้ใบมีดคนละชุดกัน ทั้งนี้ก็มีข้อเสียที่ต้องรอเครื่องพักนานสุดถึง 40 นาทีค่ะ
ปรบมือดัง ๆ ให้กับอันดับที่ 1 ได้เลยกับเครื่องทำลายเอกสารคุณภาพดีจาก Olympia ที่ช่วยทำลายเอกสารด้วยใบมีดสุดคม ให้เหลือขนาดเพียงแค่ 4X40 mm ตัวเครื่องมีน้ำหนักรวม 3.8 kg ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายได้ มีระบบให้ผู้ใช้ดึงกระดาษย้อนกลังได้หากกระดาษติด นอกจากนี้ใบมีดยังมีการรับประกันให้ 1 ปีอีกด้วย โดยเครื่องรุ่นนี้จะมีระยะการหยุดพักเครื่องประมาณ 20 นาที
ต่อด้วยเครื่องทำลายเอกสารที่ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างมีขนาดใหญ่ แต่ก็มีเสียงที่เงียบมากอีกรุ่นหนึ่ง โดยรุ่นนี้ใช้ใบมีดที่มีคุณภาพ ซึ่งมีความเร็วในการทำลายอยู่ที่ 2 เมตร/นาที เอกสารที่ทำลายได้มีขนาด 4 x 25 mm สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 5 นาทีร่วมกับระบบ Overheat ซึ่งเครื่องจะหยุดทำงานทันทีหากเครื่องร้อนเกิน มีปุ่มควบคุมระบบเดินหน้า-ถอยหลังกระดาษที่ควบคุมโดยผู้ใช้ นอกจากนี้ยังสามารถย่อยแผ่นซีดีและบัตรเครดิตได้ แต่ต้องใส่แยกช่องกับเอกสาร
สำหรับเครื่องทำลายเอกสารจาก Aurora รุ่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าคุณภาพที่แนะนำโดยผู้ใช้จริง เพราะสามารถทำลายเอกสารได้ด้วยความเร็ว 2.97 เมตร/นาที เอกสารที่ทำลายเป็นเส้นตรงมีหน้ากว้าง 6 mm ใช้ใบมีดมีความทนทาน มีระบบเซนเซอร์ซึ่งจะเริ่มการทำงานเมื่อใส่กระดาษและจะหยุดทำงานเมื่อกระดาษหมด และมีระบบย้อนกลับที่ควบคุมโดยการกดปุ่ม ที่สำคัญ คือ สามารถทำลายพร้อมกันได้สูงสุดถีง 10 แผ่น รวมไปถึงสามารถทำลายแผ่นซีดีและบัตรเครดิตได้ครั้งละ 1 แผ่นอีกด้วย
หากใครที่กำลังมองหาความคุ้มค่า ต้องบอกเลยว่าห้ามพลาดรุ่นนี้เด็ดขาด เพราะถึงแม้จะเป็นระบบมือหมุน แต่ตัวเครื่องก็ใช้วัสดุที่มีความเบาและมาพร้อมกับความแข็งแรงทนทาน พกพาได้ง่าย แถมยังมีใบมีดสุดคมที่สามารถช่วยย่อยลวดเย็บกระดาษ แผ่นซีดีหรือบัตรเครดิตได้อีกด้วย โดยเมื่อทำลายแล้วจะได้ขนาดเล็กประมาณ 3x23 mm หรือพอ ๆ กับระดับป่นละเอียดเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นเครื่องทำลายเอกสารระบบมือหมุนที่มีความคุ้มค่าเป็นอย่างมากเครื่องหนึ่งเลยค่ะ
มากันที่เครื่องทำลายเอกสาร NEOCAL พร้อมล้อเลื่อนในตัวกันเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกันบ้าง โดยในรุ่นนี้มีความเร็วในการตัดอยู่ที่ 4.46 เมตร/นาที ซึ่งเอกสารที่ทำลายแล้วจะมีขนาดเล็กประมาณ 4x33 mm มีฟังก์ชันเดินถอยหลังอัตโนมัติเมื่อกระดาษติด รวมถึงจะหยุดทำงานอัตโนมัติหากใส่ถังบรรจุไม่สนิทหรือเมื่อเครื่องมีความร้อนเกิน ใช้งานกับการตัดแผ่นซีดีและบัตรเครดิตได้ รีวิวจากผู้ใช้งานจริงต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าคุ้มราคา
เมื่อพูดถึงปัญหาเครื่องหยุดทำงาน สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหานี้ก็คือ การที่มีสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เราไม่ทันสังเกตได้เข้าไปติดหรือพันอยู่กับในมีด จนใบมีดไม่สามารถหมุนเพื่อทำงานต่อไปได้ นอกจากนี้การนำกระดาษที่เปื้อนกาวหรือมีเทปกาวติดอยู่ อย่างที่เห็นได้ชัด คือ ซองจดหมาย ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ เพราะความเหนียวของกาวมักจะถูกไปสะสมอยู่ตามช่องว่างระหว่างใบมีด เมื่อนานเข้าก็จะกลายเป็นก้อนกาวหนืด ๆ ที่เข้าไปขัดกับใบมีดจนเครื่องทำงานไม่ได้
ในบางครั้งผู้ใช้ก็อาจลืมสังเกตคำแนะนำ จนทำให้เกิดการใส่กระดาษในปริมาณเกินกำหนด ซึ่งก็เป็นส่วนที่ทำให้เครื่องหยุดทำงานได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาจากสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ และเพื่อให้เครื่องทำลายเอกสารมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ผู้ใช้จึงจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือคำแนะนำก่อนการใช้งานอย่างรอบคอบนั่นเอง
จากวิธีการเลือกและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจทั้ง 10 อันดับนั้น ทำให้เราได้เห็นว่าเครื่องทำลายเอกสาร นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ รั่วไหลออกไปภายนอกแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่เราไม่ต้องนำเอกสารไปเผาทิ้งสร้างมลพิษให้กับโลกอีกด้วย
ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเล็กหรือใหญ่ จะเป็นออฟฟิศที่เต็มไปด้วยเอกสารหรือเป็นเพียงการใช้งานภายในครอบครัวที่ต้องการย่อยกระดาษที่มีความสำคัญ 2-3 ชิ้น ก็อย่าลืมไปเลือกซื้อเครื่องทำลายเอกสารที่เหมาะสม และมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานมาไว้เป็นผู้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลของเรากันนะคะ